การเฉลี่ยภาษีซื้อ

  • Posted on: 4 March 2016
  • By: nid

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ประกอบการซึ่งเริ่มประกอบกิจการ หรือได้ประกอบกิจการมาแล้วแต่ยังไม่มีรายได้ หากมี ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการซึ่งได้นำไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภท และไม่สามารถแยกได้ อย่างชัดแจ้งว่าเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ผู้ประกอบการจะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของข้อ 2(1) และ (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 29 กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อของสินค้าหรือบริการตามส่วนของประมาณการรายได้ของกิจการทั้งสอง ประเภทของปีที่เริ่มมีรายได้ โดยให้นำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของประมาณการรายได้ของกิจการ ประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขาย แต่ภาษีซื้อดังกล่าวจะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของ ภาษีซื้อที่นำมาเฉลี่ย และเมื่อสิ้นปีของปีแรกที่เริ่มมีรายได้ ให้ผู้ประกอบการปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไป ตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในแบบ ภ.พ. 30.2 และสำหรับปีถัดจากปีที่เริ่มมีรายได้ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเฉลี่ย

ภาษีซื้อได้ 2 วิธี คือ

(1) เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอคืนภาษีซื้อตามที่ได้เฉลี่ยไว้ โดยไม่ต้องทำการปรับปรุงภาษีซื้อในภายหลังอีก

(2) เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการทั้งสองประเภทและเมื่อสิ้นปีให้ผู้ประกอบการทำการปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไป ตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการทั้งสองประเภท

เมื่อผู้ประกอบการได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้ว ก็ให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้

ที่มา: สรรพากร