บอกเล่าเรื่องใบกำกับภาษี
ข้อควรคำนึงในการมีและใช้ใบกำกับภาษี
1. ผู้ขายควรออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือบริการและส่งมอบใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยผู้ขายต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างน้อย 2 ฉบับ ดังนี้
ต้นฉบับ – ผู้ขายส่งมอบให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการผู้ซื้อใช้เป็นหลักฐานในการลงรายงานภาษีซื้อ
สำเนา – ผู้ขายเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษีขาย
2. ผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แต่ผู้ซื้อขอให้จัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ผู้ขายควรออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้กับผู้ซื้อทันที
3. ผู้ขายจะแก้ไขรายการในใบกำกับภาษีไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ควรดำเนินการ เรียกคืนต้นฉบับใบกำกับภาษีฉบับเดิมและประทับตราว่า “ยกเลิก” หรือขีดฆ่าแล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ทั้งชุด)
ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวันที่ เดือน ปี ให้ตรงตามใบกำกับภาษีเดิม
ใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้หมายเหตุว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิม เลขที่____เล่มที่_____”
4. ผู้ขายมีการแก้ไขชื่อผู้ซื้อจากบุคคลหนึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ถือเป็นกรณีที่มิได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อที่แท้จริง และหากไม่สามารถพิสูจน์ถึงความมีตัวตนของผู้ซื้อได้ ถือเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
5. ผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ที่มิได้มีการซื้อสินค้าหรือรับบริการจริง เป็นการออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย