ลดหย่อนภาษีปี 2558
ลดหย่อนภาษี 2558 นี้มีวิธีดีๆ และหลักเกณฑ์ไหนบ้างที่จะช่วยให้เราจ่ายภาษีได้น้อยลง ใครที่ต้องเสียภาษีคราวละมากๆ ทุกปี ไม่รู้ไม่ได้แล้ว
ใกล้สิ้นปีแบบนี้ ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี คงถึงช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคิดถึงต่อมาคือ การขอลดหย่อนภาษีเพื่อลดภาระการจ่ายภาษีให้กับตัวเอง ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธี ลองไปดูกันว่าสำหรับปีภาษี 2558 มีทางไหนที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้มนุษย์เงินเดือนได้บ้าง
1.ลดหย่อนส่วนบุคคล
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ทันที 30,000 บาท
2.ลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
ใช้ลดหย่อนได้ 30,000 บาท สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
3.ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตรและการศึกษาบุตร
ได้ทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรตามกฎหมาย โดยหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน (มากสุด 45,000 บาท) โดยบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปีหรือถ้าเกิน 20 ปี (21-25 ปี) จะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส.ขึ้นไปเท่านั้นและหากศึกษาต่อในประเทศก็จะได้ลดหย่อนเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท
ทั้งนี้จะต้องไม่มีรายได้ในภาษีไม่เกิน 15,000 บาทขึ้นไป
4.ลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโดหรือที่อยู่อาศัย โดยมีเงื่อนไขคือ
- ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
- ต้องกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเองหรือคอนโดมิเนียม
- หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่งสามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆ กัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนเช่นกัน
5.ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
ลดหย่อนจากบิดามารดา (ตัวเอง)และบิดามารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดไม่เกิน 120,000 บาทโดยมีเงื่อนไขคือ บิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ต้องให้บิดามารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษี จะสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
6.ลดหย่อนจากประกันชีวิต
- ประกันชีวิตแบบทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท เงื่อนไข ประกันชีวิตคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและมีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20%
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เงื่อนไข ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไปและจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีต่อเนื่องไปจนถึง 85 ปี และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฏหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
7. ลดหย่อนจาก กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long term equity fund (LTF)
LTF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ซื้อหน่วยลงทุน LTF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผลตอบแทนด้วยคือ สามารถซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย ทั้งนี้ กองทุน LTF ที่ซื้อไว้ต้องไม่ต่ำกว่า 5 ปี (นับตามปี พ.ศ. เช่น ซื้อ LTF ปี 2558 จะต้องถือไว้จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นอย่างน้อย) และไม่สามารถโอนหรือจำนำไปเพื่อเป็นหลักประกันได้
8. ลดหย่อนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)
RMF เป็นกองทุนรวมที่จัดขึ้นเพื่อการออมและการลงทุนในระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีคือ หักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้ามีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว เมื่อนำมารวมกับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF แล้วก็หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาทเช่นกัน
สามารถคิดตามสูตรได้คือ RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
9. ลดหย่อนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนเงินออมของสมาชิก ซึ่งกำหนดให้สมาชิกของ กบข. ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน กบข. 3% ในแต่ละเดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีก 3% ด้วยเช่นกัน โดยสมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้า กบข. นี้จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
10. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เมื่อรวมกับ RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
11. ลดหย่อนจากกองทุนการออมแห่งชาติ
ถือเป็นปีแรกที่ผู้ที่เป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมเข้า กอช. ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมในลักษณะเดียวกันแล้ว ต้องไม่เกินกว่าจำนวนตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด
12. ลดหย่อนจากการจ่ายประกันสังคม
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่บุคคลที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท อันมาจากการคำนวณรายได้สูงสุดที่เดือนละ 15,000 บาท
13. ลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นปีแรก ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ซื้อบ้านให้กับประชาชน สามารถซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท สามารถนำ 20% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ไปใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งสิทธิ์การลดหย่อนส่วนนี้ จะแยกกับการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านอีกด้วย
14. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
สามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 60,000 บาท หากเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
15. ลดหย่อนจากเงินบริจาค
การบริจาคให้กับการกุศลต่าง ๆ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนและยกเว้นกรณีอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น ไม่สามารถนำการบริจาคที่เป็นสิ่งของมาหักลดหย่อนได้ และหากต้องการลดหย่อนแบบคูณ 2 จะต้องเป็นการบริจาคเงินให้กับโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือสมาคมกีฬาที่ได้รับการอนุญาติจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแล้วเท่านั้น เช่น บริจาคให้โรงเรียนหรือสมาคมกีฬา 15,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้เป็น 30,000 บาท (15,000 x 2 = 30,000)
ทั้งนี้ การบริจาคที่จะนำมาใช้ลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จรับเงินบริจาค หรือใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อผู้บริจาคชัดเจนตรงกับชื่อ-นามสกุลของผู้เสียภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐาน และหากมีการบริจาคร่วมกันหลายคน ให้เฉลี่ยเงินบริจาคออกเป็นเท่า ๆ กันตามสัดส่วน
16. ลดหย่อนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากทั้ง 2 เงื่อนไขรวมกันคือ
- ค่าบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ (ค่าแพ็กเกจทัวร์) อันเกิดจากการใช้บริการบริษัททัวร์ หรือบริษัทนำเที่ยว ที่จดทะเบียนกับสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- ค่าบริการที่พัก จะต้องเป็นค่าที่พักกับโรงแรมที่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติโรงแรม เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ดังนั้น ค่าที่พักบางแห่งอาจจะไม่สามารถนำมาหัก เป็นค่าลดหย่อนได้ เช่น พักตาม โฮมเตย์ หรือ บ้านพักต่าง ๆ แม้แต่บ้านพักตามอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรมตามกฎหมาย โดยการนำหลักฐานสำคัญ คือใบเสร็จหรือหลักฐานการรับเงิน ที่ระบุชื่อผู้ชำระเงิน จำนวนเงิน และวันเดือนปีที่ชัดเจนมาแสดง
- ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนจากการท่องเที่ยวนี้ สามารถใช้ได้ใน 2 ปีภาษีคือ ปี 2557 ที่ผ่านมา และปี 2558 ที่กำลังจะหมดไปนี้เท่านั้น จึงทำให้ช่วงเวลาที่ใช้ท่องเที่ยวและนำมาลดหย่อนภาษีได้เหลืออยู่เพียงวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2558 สำหรับการยื่นภาษีก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2559 เท่านั้น
ที่มา: www.ecepost.com